อาการไข้สูงในเด็ก (High fever in children) โดยทั่วไปแล้ว หากวัดไข้เด็กแล้วมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.8 องศาขึ้นไป แสดงว่า มีไข้ แต่ถ้าวัดไข้แล้วอุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศา ถือว่า มีไข้สูง

วิธีการวัดไข้
– ควรสลัดปรอทให้ต่ำกว่า 36 องศา ก่อนวัดไข้ทุกครั้ง
– ถ้าเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี หรือยังไม่สามารถอมปรอทได้ ให้วัดทางรักแร้ โดยให้หนีบไว้แน่นๆ อย่างน้อย 3 – 5 นาที โดยสังเกตว่าปรอทต้องอยู่กึ่งกลางรักแร้ และเมื่อหนีบปรอทจนครบแล้วได้อุณหภูมิเท่าไร ให้บวกเพิ่มอีก 0.5 องศา เช่น วัดปรอททางรักแร้แล้วได้อุณหภูมิ 37.5 องศา แสดงว่า อุณหภูมิร่างกายจริง เท่ากับ 38 องศา แต่ถ้าหากเป็นปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล คือ แสดงตัวเลขขึ้นเลย ไม่ต้องบวกเพิ่ม
– ถ้าเป็นเด็กที่โตแล้วให้วัดทางปาก ให้วางปรอทไว้ใต้ลิ้นประมาณ 1 นาที โดยก่อนการวัดอุณหภูมิ ต้องไม่ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก่อนวัดไข้อย่างน้อย 15 นาที
– ในทารกแรกเกิดให้วัดไข้ทางทวารหนัก โดยใส่เข้าไปประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ระยะเวลานาน 1 นาที ห้ามใช้ในเด็กที่มีการถ่ายเหลว ซึ่งปรอทชนิดนี้จะเป็นปรอทที่แตกต่างจากปรอทวัดไข้ทั่วไป

ควรทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยมีไข้
– เมื่อรู้สึกเริ่มไม่สบายหรือตัวร้อน ให้ใช้ปรอทวัดไข้ตามวิธีการวัดไข้
– ให้เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดปลายมือ ปลายเท้า เข้าหาลำตัว การเช็ดตัวลดไข้ ต้องเช็ดแรงกว่าการเช็ดตัวปกติ เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดี และควรวางผ้าบริเวณข้อพับต่างๆ รวมทั้งขาหนีบ และหมั่นเปลี่ยนผ้าขนหนูบ่อยๆ ระหว่างการเช็ดตัว หากเกิดอาการหนาวสั่นควรหยุดเช็ด และห่อตัวสักครู่
– การเช็ดตัวควรเช็ดตัวในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกไม่ให้ลมโกรก ถ้าอยู่ในห้องแอร์ควรปิดแอร์ และใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายไม่ห่มผ้าหนา
– ดูแลและให้ยาลดไข้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด และถ้าลูกมีประวัติเคยชัก ควรให้รับประทานยากันชัก ควบคู่กันไปด้วย
– หลังจากเช็ดตัวลดไข้และรับประทานยาลดไข้แล้ว 30 นาที ให้วัดไข้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง
ถ้าเด็กมีไข้สูงตลอด ไข้ไม่ลดลง ซึมลง อาเจียน รับประทานไม่ได้ ปัสสาวะน้อยลง และปัสสาวะมีสีเข้มมาก ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
– ในเด็กที่มีไข้สูงและอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรได้รับการดูแลเรื่องการเช็ดตัวลดไข้ให้ดี เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ และถ้าหากมีอาการชักแล้ว โอกาสที่จะชักซ้ำจากไข้สูง จะมีมากกว่าเด็กที่ไม่เคยชักเลย มากถึง 30%

อาการชักจากไข้สูง อาการเป็นอย่างไร
เป็นอาการชักที่เกิดร่วมกับการมีไข้สูง มักพบในเด็กอายุ 3 เดือน – 6 ปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 1 – 3 ปีแรก
อาการชักจากไข้สูง อาการแสดงจะมีหลายลักษณะ ตาค้าง ไม่รู้สึกตัว ชักทั้งตัว หรือชักกระตุกเกร็งทั้งตัว ชักระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที และไม่ควรมีอาการชักเฉพาะซีกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

เตรียมรับมือหากลูกมีอาการชักจากไข้สูง
สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติเมื่อลูกมีอาการชักจากไข้สูง คือ จับเด็กให้นอนตะแคง บนพื้นราบที่นุ่ม ไม่มีของแข็งกระทบ ถ้ามีเศษอาหารติดในช่องปากให้ล้วงออก เพื่อป้องกันทางเดินหายใจอุดกั้นขณะชัก และรีบพบแพทย์
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเด็ดขาด คือ ไม่ควรพยายามทำให้เด็กอาเจียน โดยใช้ช้อนหรือของแข็งใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องปากและฟัน หรือทำให้ฟันหลุดไปอุดหลอดลมได้ ถ้าเด็กกัดลิ้น ให้หาผ้านุ่มๆ ใส่ปาก
ในเด็กที่เคยมีประวัติชักจากไข้สูง เมื่อเด็กเริ่มมีไข้ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของการดูแลเด็กที่มีไข้หรือถ้าไข้ยังไม่ลดควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

 

7 อาการเฝ้าระวังของลูกน้อย ที่ต้องรีบไปพบแพทย์
1.เมื่อไข้ขึ้นสูงและไข้ไม่ยอมลดลง
อุณหภูมิของเด็กที่มีไข้สูง คือประมาณ 38.5 องศาเซลเซียส แต่หากทานยาลดไข้และเช็ดตัวอย่างถูกวิธีแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าไข้จะลดลง ควรพาเด็กไปพบแพทย์เป็นการด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้เด็กมีอาการช็อก และเกิดอันตรายอื่นๆ ตามมาได้
2. ลูกมีอาการชัก
อาการชักส่วนใหญ่มักเกิดเมื่อมีไข้สูง แต่อาการชักยังสามารถเกิดจากกรณีอื่นได้เช่นกัน หากเด็กมีอาการชักเกิน 10 นาทีหรือชักซ้ำ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน
3. อาเจียนหรือท้องเสียไม่หยุด
ทั้งอาเจียนหรือท้องเสียไม่หยุด จะเป็นเหตุทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กไม่สามารถดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ได้เลย และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือมีการอักเสบลุกลามไปที่บริเวณอื่นได้ จึงควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์
4. ปวดหัวอย่างรุนแรง
ซึ่งอาจเกิดจากเด็กหกล้ม หรือได้รับอุบัติเหตุที่มีศีรษะฟาดกับของแข็งโดยคุณพ่อคุณแม่ไม่เห็นเหตุการณ์ และนอกจากปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้ว ในบางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย หากทราบว่าลูกปวดหัวมาก ให้พาไปพบแพทย์จะดีกว่า เพราะอาจเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบ
5. เป็นไข้ติดต่อกันเกิน 5-7 วัน
โดยปกติแล้ว หากเป็นไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจะหายขาดได้ภายใน 5-7 วัน แต่หากยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงไข้ต่ำๆ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์จะดีกว่า เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นหรือมีโรคแทรกซ้อนบางอย่าง
6. ถ่ายเป็นมูกเลือด
นอกจากท้องเสียเป็นน้ำแล้ว อาการถ่ายเป็นมูกเลือดแม้เพียงครั้งเดียวก็อย่าประมาท เพราะแสดงถึงความผิดปกติที่อาจเกิดจากการอักเสบของลำไส้จากสาเหตุอื่นๆ ได้
7. หายใจเหนื่อยหอบ
อาการลักษณะนี้ อาจเป็นอาการของโรคหอบหืดที่รุนแรง หรือบางครั้งอาจมีบางสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งเพียงไม่กี่นาทีก็ส่งผลถึงชีวิตได้ จึงไม่ควรรอช้าที่จะไปพบแพทย์

หาก ‘ลูกป่วย’ ด้วยอาการต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งลูกอาจจะยังเล็กเกินไปที่จะบอกอาการของตัวเองให้ผู้ปกครองรู้ได้ การเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นสายด่วนรถพยาบาล หรือเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลที่พาเด็กไปรักษาเป็นประจำ รวมถึงโรงพยาบาลใกล้บ้าน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล

 

ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ gayayers.com