ความพยายามของสหรัฐฯที่จะฉุดให้จีนตกลงสู่ ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศ’อีกครั้ง คือความผิดพลาดที่ร้ายแรงยิ่ง
ไม่เหมือนกับวอชิงตันเลย ปักกิ่งไม่ได้มุ่งแสวงหาทางเพื่อเป็นเจ้าใหญ่ผู้ครอบงำพื้นพิภพ เพียงแค่ต้องการมีฐานะที่ถูกต้องเหมาะสมในหมู่มหาอำนาจระดับโลก

“สี (จิ้นผิง) ยังคงยึดติดแน่นอยู่แต่กับเรื่องการยุติปิดฉาก ศตวรรษแห่งความอัปยศ (century of humiliation) ของจีน” – นี่เป็นข้อความสำคัญในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มข่าว “โพลิติโค” (Politico) ของสหรัฐฯ โดยที่บทความนี้ยังเป็นหนึ่งในบทวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งประณาม เอมมานูเอล มาครง จากการที่เขาตัดสินใจเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ โดยบรรยายให้เห็นไปว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้นี้ เป็นคนทรยศหักหลังหลักการเบื้องลึกของสหรัฐฯ จากการไปเยือนดังกล่าว ตลอดจนจากคำแถลงที่เขาประกาศออกมาภายหลังจากนั้น

บทความชิ้นดังกล่าวนี้ดำเนินต่อไปโดยพรรณนาถึงแรงจูงใจต่างๆ ของผู้นำจีน สี จิ้นผิง เอาไว้ดังนี้: เขาดูเหมือนต้องการให้จีน “ก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพ และเขาหวาดกลัวว่าสหรัฐฯมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวพอๆ กันที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งตนสามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะต้องประสบความล้มเหลว”

ศตวรรษแห่งความอัปยศ ที่กล่าวถึงนี้คืออะไร? ทำไมมันจึงดูมีความหมายมากมายสำหรับจีน และมันยังเป็นความคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในทุกวันนี้อยู่หรือไม่? ทั้งนี้ วลีดังกล่าวนี้กลายเป็นแนวความคิดที่ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางในวาทกรรมทางการเมืองของจีน โดยที่มันถูกใช้เพื่อเป็นการประเมินสรุปช่วงเวลาในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือในระยะต้นๆแห่งยุคสมัยใหม่ของประเทศจีน ทั้งนี้ แนวความคิดนี้บรรยายถึงจีนในช่วงดังกล่าวว่าต้องประสบความทุกข์ยากลำบากถึงขนาดสุ่มเสี่ยงว่าจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ด้วยน้ำมือของประดามหาอำนาจต่างชาติซึ่ง “สร้างความอัปยศ” ให้แก่จีน การใช้คำว่า “สร้างความอัปยศ” ก็คือเมื่อพิจารณาจากความรู้สึกที่ว่า ในยุคสมัยที่ประเทศชาติเสื่อมทรุด จีนก็ต้องพลัดพรากจากความยิ่งใหญ่ที่เคยเป็น วาทกรรมว่าด้วยความอัปยศนี้ ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับ “การฟื้นคืนชีพ” ในประเทศจีนทุกวันนี้ อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ปกครองแดนมังกรเวลานี้พูดถึงช่วงสมัยปัจจุบัน

ศตวรรษแห่งความอัปยศนี้ เป็นยุคสมัยซึ่งเห็นกันว่าพวกมหาอำนาจต่างชาตินักล่าอาณานิคม ได้เข้าพิชิตปราบปราม, ใช้อำนาจบังคับ, และขูดรีดบีบเค้นเอาผลประโยชน์ต่างๆ จากราชวงศ์ชิงซึ่งกำลังเสื่อมสลาย บังคับให้จีนต้องเปิดประตูประเทศเพื่อเข้าขูดรีดหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และแผ่อิทธิพลทางการเมืองครอบงำแดนมังกร ระยะเวลาดังกล่าวนี้โดยทั่วไปเห็นกันว่าเริ่มต้นขึ้นด้วย “สงครามฝิ่น” ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อราชวงศ์ชิงปฏิเสธไม่ยอมให้นำเข้ายาเสพติดมหาภัยอย่างฝิ่น จากอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ ได้นำไปสู่สงคราม ซึ่งยุติลงด้วยการจัดทำสนธิสัญญาหนานจิง (Treaty of Nanking) ที่ถือกันว่าเป็นสนธิสัญญาที่ “ไม่เท่าเทียม” ข้อตกลงดังกล่าวนี้ไม่เพียงบังคับให้จีนต้องยอมเปิดเมืองท่าต่างๆ และทำให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้อังกฤษเข้าผนวกเกาะฮ่องกงเป็นของตนอีกด้วย

จากสงครามฝิ่น (ที่มีการสู้รบใหญ่ 2 ระลอก -ผู้แปล) ยังติดตามมาด้วยการสู้รบขัดแย้งอื่นๆ อีกมากมายที่มหาอำนาจต่างชาติมุ่งใช้เล่นงานรีดเร้นเอาผลประโยชน์ต่างๆ จากปักกิ่ง โดยรวมไปถึงการบังคับให้จีนต้องยินยอมให้ต่างชาติก่อตั้ง “เมืองท่าตามสนธิสัญญา” (treaty ports) ขึ้นมา ซึ่งมีฐานะเป็นดินแดนกึ่งอาณานิคมที่อยู่ใต้การควบคุมของต่างชาติ โดยในเมืองท่าเหล่านี้กฎหมายของต่างชาติถูกบังคับใช้เหนือกฎหมายจีน อีกทั้งเกิดการกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนของพวกมหาอำนาจต่างชาติ อย่างเช่น การปล้นสะดมและเผาผลาญพระราชวังฤดูร้อนแห่งเก่าเมื่อปี 1860

ผลกระทบจากศตวรรษแห่งความอัปยศ กลายเป็นการคลายปมให้เกิดการปะทุของการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์และทางการเมืองในจีน และนำไปสู่การกำเนิดอุดมการณ์เพื่อการปฏิวัติอย่างใหม่ๆ ที่ต้องการกู้ชีพฟื้นชีวิตประเทศชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้กลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ไป พรรคนี้สามารถเข้ากุมอำนาจได้สำเร็จภายหลังสงครามกลางเมืองในช่วงระหว่างปี 1927-1949 ด้วยการวางกรอบของตนเองว่าเป็นพลังแห่งการขับดันการฟื้นชีพของจีนและการก้าวสู่ความทันสมัยของจีน ขณะที่ “ความอัปยศ” ของอดีต คือพื้นหลังประการหนึ่ง ซึ่งผลักดันทำให้ประเทศชาติเกิดใหม่และนำพาประเทศชาติก้าวมาถึงจุดที่ยืนอยู่ในทุกวันนี้

ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ คณะผู้นำของจีนจึงเล็งเห็นความพยายามของอเมริกันที่จะปิดล้อมจำกัดประเทศจีนในเวลานี้ ว่าเป็นความพยายามที่จะกดขี่บังคับให้เกิดศตวรรษแห่งความอัปยศครั้งใหม่ขึ้นมา ขณะที่ความพยายามต่างๆ ของสหรัฐฯในการสกัดขัดขวางการก้าวผงาดและการพัฒนาของจีน ทั้งโดยผ่านการโอบล้อมทางการทหาร และการห้ามค้าขายตลอดจนการแซงก์ชั่นทางเทคโนโลยี ก็ถูกมองว่าสหรัฐฯวางแผนขึ้นมาเพื่อกีดกันไม่ให้จีนสามารถแซงหน้าอเมริกาและช่วงชิงฐานะความเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในโลก เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่การกระทำเหล่านี้ทำให้ในจีนมีการเปรียบเทียบว่ามันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการรุกรานเล่นงานจีนของพวกต่างชาติในสมัยอดีตกาล สหรัฐฯไม่ได้ต้องการให้จีนไปได้ดี แต่ต้องการที่จะเข้าครอบงำจีนทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์และความได้เปรียบของสหรัฐฯเอง ทว่าการทำเช่นนี้รังแต่จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นอีกในปักกิ่ง ว่าจะต้องไม่ยอมให้ความล้มเหลวอย่างในอดีตเกิดซ้ำขึ้นมา

การที่จีนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกที่เป็นอิสระ ในตัวมันเองจึงกลายเป็นการกระตุ้นความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามและการสู้รบขัดแย้งขึ้นมาอย่างมหาศาล ปักกิ่งไม่ได้กำลังเสาะแสวงหาฐานะความเป็นเจ้ายิ่งใหญ่เหนือใคร (hegemony) อย่างที่พวกคอมเมนเตเตอร์ชาวตะวันตกบางคนเลือกที่จะวาดภาพระบายสีให้เห็นเป็นเช่นนั้น หากแต่พวกเขากำลังมุ่งหาทางฟื้นฟูสิ่งที่พวกเขามองเห็นว่าเป็นสถานะอันถูกต้องของพวกเขาขึ้นมาใหม่ภายหลังการตกต่ำเสื่อมถอยของประเทศชาติในอดีต จีนไม่ได้ต้องการให้เรื่องเล่าความพ่ายแพ้อันอึกทึกครึกโครมแบบสงครามฝิ่นบังเกิดซ้ำขึ้นมาอีกแล้ว และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำรอยขึ้นมาได้สำเร็จ พวกเขาจึงน่าที่จะต้องเร่งรัดการพัฒนาทางการทหารตลอดจนขนาดกองทัพของพวกเขาเอง ในความพยายามที่จะป้องปรามสหรัฐฯตลอดจนพวกพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้จุดสำคัญเป็นตายยิ่งกว่าอะไรอื่นทั้งหมดในเรื่องนี้ ได้แก่การที่ไต้หวันยังคงเป็นมรดกค้างคามาจากอดีตที่มิได้รับการแก้ไข โดยที่ในความรับรู้ความเข้าใจของปักกิ่งนั้น แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งตกค้างมาของศตวรรษแห่งความอัปยศด้วยเช่นกัน

พวกญี่ปุ่นได้แย่งยึดเกาะแห่งนี้จากแผ่นดินใหญ่ไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตนเมื่อปี 1895 และจีนมองว่าการนำเอาดินแดนนี้กลับมารวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งคือสิทธิของตน อีกทั้งมองความพยายามที่จะขัดขวางการรวมชาติเช่นนี้ –เฉกเช่นที่กระทำโดยสหรัฐฯ— ว่าเป็นความพยายามซึ่งมุ่งที่จะสร้างความอัปยศครั้งใหม่ นี่หมายความว่าเดิมพันทางการเมืองซึ่งผูกพันอยู่กับอนาคตของไต้หวันนั้นมีความสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้ มันเป็นการฉลาดแล้วหรือที่จะพยายามและผลักไสจีนให้ตกเข้าสู่ขีดจำกัดอย่างสัมบูรณ์?

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่า สงครามและการสู้รบขัดแย้งนี่แหละ ถือเป็นมิติแง่มุมของความมั่นอกมั่นใจในชาติของจีนเอง ตัวอย่างเช่น จากทัศนะมุมมองของฝ่ายจีนแล้ว ความสำเร็จของจีนในสงครามเกาหลี (Korean war) ปี 1950-1953 เป็นเรื่องที่พึงได้รับการประโคมว่าเป็นจุดสิ้นสุดของศตวรรษแห่งความอัปยศ และเป็นการผงาดขึ้นมาของจีนในฐานะที่เป็นมหาอำนาจสมัยใหม่รายหนึ่งในโลก ความพยายามทั้งหลายไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ได้มีเจตนาก็ตามที ที่จะ “สร้างความอัปยศ” ให้แก่จีนอีกคำรบหนึ่งนั้น คือเรื่องที่มีอันตรายอย่างแท้จริง เพราะมันเกี่ยวข้องพัวพันกับความพยายามที่จะไล่ต้อนชาติๆ หนึ่งให้เข้ามุม โดยที่ชาติดังกล่าวไม่ได้ต้องการที่จะจนมุม อีกทั้งมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต่อสู้ตอบโต้กลับ ความพยายามทุกๆ ประการจึงควรที่จะอยู่ในลักษณะของการร่วมมือและการอยู่ร่วมกันกับจีนที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา ขณะเดียวกับที่คัดค้านความพยายามที่จะปราบปรามกำราบจีน

ณ ขั้นตอนนี้แห่งการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าในแง่ทางเศรษฐกิจและทางทหารแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำเลยที่จะประเมินจีนให้ต่ำเกินไป รวมตลอดไปถึงไม่พึงใช้ความพากเพียรเพื่อมุ่งหวังชุบชีวิตยุคสมัยแห่ง “ความอัปยศ” ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ความพยายามใดๆ ก็ตามที่วาดหวังจะเพิ่มมรดกใหม่ๆ ของการที่พวกมหาอำนาจตะวันตกสามารถบังคับให้จีนต้องปฏิบัติตามความปรารถนาของพวกตนอย่างมัวเมา น่าจะได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าคือความผิดพลาดที่อยู่ในระดับใหญ่โตมหึมา

ข้อเขียนชิ้นนี้เก็บความมาจาก https://www.rt.com/news/574744-china-beijing-century-humiliation/

ติดตามเรื่องราวรอบโลกได้ที่ gayayers.com